‘รัก’ yoga .. เริ่ม ‘รู้จัก’ anatomy
หมอดุล ทพ.สมดุลย์ หมั่นเพียรการ
www.ThaiYogaAnatomy.com , www.facebook.com/iLoveYogaAnatomy
‘รัก’ yoga .. เริ่ม ‘รู้จัก’ anatomy
มีสิ่ง ‘มหัศจรรย์’ เกิดขึ้นกับหมอฟันผู้ตกหลุมรักโยคะ …. ‘yoga anatomy’ จึงเกิดขึ้น
……….
การทำงานในสายวิชาชีพแพทย์ อาจทำให้ผมรู้จักโครงสร้างร่างกายได้มากกว่าคนทั่วไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว วิชาการที่แท้จริง กลับไม่ได้อยู่แค่ในตำรา แต่ทว่า เกิดขึ้นจากการ ปฏิบัติโยคะ
สิบกว่าปีก่อน เมื่อผมเริ่มเรียนโยคะ ครูหนู ชมชื่น สิทธิเวช สอนให้ผมรู้จักกับ anatomy ในอีกมิติหนึ่ง ผ่านบทเรียนแรก ที่เรียกว่า สูรยนมัสการ หรือ ท่าไหว้พระอาทิตย์ (Sun salutation)
ไม่ว่าจะฝึกโยคะอาสนะรูปแบบใด แอชทังกา (Ashtanga) วินยาสะ (Vinyasa) หรือ ศิวนันทะ (Sivananda) ล้วนเริ่มต้นจากสูรยนมัสการทั้งสิ้น แม้จะมีรายละเอียดบางอย่างที่ต่างกัน
ครูสอนผมว่า ท่าไหว้พระอาทิตย์ เปรียบเหมือนท่าไหว้ครู เพื่อแสดงความนอบน้อมต่อพระอาทิตย์ ผู้ให้กำเนิดพลังงานแก่ทุกสรรพชีวิต
ผมจึงขอ ‘ไหว้ครู’ ผ่านบทความนี้ พาผู้อ่านทุกท่าน เริ่มรู้จักกับ anatomy ผ่านการรับรู้บนผืนเสื่อ จากท่าแรกในสูรยนมัสการ คือ ท่าตาฑาสนะ หรือ สมสถิติห์
……….
เคยสังเกตตัวเองขณะยืนในท่าตาฑาสนะ ไหมครับ
“ทำไมยืนเท้าชิดกันแล้ว หัวเข่ากลับแยกห่างจากกัน ขณะที่ขาของบางคนกลับหมุนเข้าหากัน คล้ายเป็ดยืน (ที่เรียกว่า knocked knee)”
“พอยืนแอ่นเอว ก้นโด่ง ก็มักได้ยินครูเตือนให้คอยม้วนก้นกบ (พร้อมกับแอบสงสัยว่า ม้วนยังไง)”
ตัวอย่างการยืนเหล่านี้ ทำให้เราเริ่มรู้จัก anatomy จากร่างกายของตัวเอง โดยไม่ต้องไปสืบจากศพที่ไหน
……….
เริ่มหยัดยืนจาก..ฐานมั่น
ท่านไอเยนการ์ เคยเปรียบท่าอาสนะนี้ว่า “ขณะที่ยืนอยู่ในท่าตาฑาสนะ เท้าหยัดยืนบนพื้นมั่นคงดั่งขุนเขา ขณะที่ศีรษะกำลังสัมผัสความสุขจากสรวงสวรรค์เบื้องบน” นั่นเองที่ทำให้เราเรียกชื่อท่านี้ ง่ายๆว่า ท่าภูเขา
ตาฑาสนะ จึงไม่ใช่การพยายามยืนตัวตรงแข็งทื่อ ล็อกหัวเข่า จนกล้ามเนื้อทุกส่วนตึงเกร็ง เหมือนทหารเตรียมพร้อมสวนสนาม แต่ยังต้องมีความผ่อนคลายด้วย
จากหนังสือ Anatomy of Hatha Yoga โดย David Coulter สอนให้เราเริ่มต้นใส่ใจความรับรู้ในท่วงท่า จากส่วนของร่างกายที่อยู่ไกลจากแกนกลางลำตัวเข้ามา นั่นหมายความว่า ในท่ายืน ให้เริ่มใส่ใจรับรู้จากเท้า ไล่มาสู่ขา สะโพก และจากมือ ผ่านหัวไหล่ มาสู่ศูนย์กลางลำตัว ซึ่งจะทำให้เราพัฒนาความตระหนักรู้ ที่เกิดขึ้นกับแกนกลางลำตัวได้มากขึ้น
ลองเริ่มสร้างฐานให้มั่น จากเส้นสมมติที่เชื่อมจุดเล็กๆ 3 จุด ใต้ฝ่าเท้า นั่นคือ ส่วนที่ยื่นของกระดูกที่อยู่ใต้นิ้วหัวแม่เท้า ใต้นิ้วก้อย และกระดูกส้นเท้า ดังนี้
ยืนตรงในท่าตาฑาสนะ แล้วยกนิ้วเท้าทั้งสิบขึ้น เพื่อรับรู้ถึงสัมผัสของทั้งสามจุดบนผืนเสื่อ จะพบว่ากล้ามเนื้ต้นขาด้านหน้า(quadriceps femoris) เกร็งกระชับ และหัวเข่าที่ถูกดึงไปด้านหลังเล็กน้อยแต่ไม่ถึงกับล็อกแน่น ,รู้สึกถึงแรงตึงจากกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง (hamstrings) ที่ช่วยรักษาระดับของกระดูกเชิงกรานทั้งสองข้างให้เท่ากัน และต้นขาด้านในกระชับเข้าหากันจากการทำงานของกล้ามเนื้อขาหนีบด้านใน (adductor muscles) ไปพร้อมกัน
คงกระชับกล้ามเนื้อขาเหล่านั้นไว้ แล้วค่อยๆผ่อนคลายนิ้วเท้าลงกับพื้น โดยให้จุดทั้ง 3 ยังคงหยัดมั่นบนพื้นเช่นเดิม จากนั้นลองหาความสมดุลของหัวไหล่ ที่ไม่แอ่นไปด้านหลัง หรือห่องุ้มมาด้านหน้ามากเกินไป นอกจากจะช่วยตรึงกระชับกล้ามเนื้อท้อง ยังทำให้กระบังลมเคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระ เอื้อต่อการหายใจ และเป็นฐานมั่นให้ทุกข้อต่อพร้อมต่อการเคลื่อนไหว
นักเรียนแพทย์ เริ่มรู้จักโครงสร้างร่างกาย ด้วยการใช้มีดบรรจงกรีดกล้ามเนื้อออกทีละส่วนๆ นั่นคือ ความหมายของคำว่า anatomy
โยคะ สอนให้เรารู้จัก anatomy ด้วย ‘ความตระหนักรู้’
ยิ่งฝึกโยคะ ยิ่งเข้าใจสิ่งที่เป็นไปในตัวเอง นั่นคือความหมายที่แท้จริงของ yoga anatomy
……….
จากท่าตาฑาสนะ ทุกครั้งเมื่อพนมมือ เริ่มต้นเข้าสู่ท่าไหว้พระอาทิตย์ ผมรับรู้อยู่เสมอว่า สิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ใช่ปาฏิหาริย์จากการพลิกมิติการเรียนรู้ anatomy
หากแต่เกิดจาก “พลังแห่งศรัทธา” ที่มีต่อศาสตร์ทั้งสอง